มะเร็งลำไส้

10732 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ลำไส้ใหญ่ เป็นส่วนท้ายสุดของทางเดินอาหาร มีความยาวประมาณ 150-180 เซนติเมตร  ส่วนท้ายของลำไส้ใหญ่ ที่มีความยาวประมาณ 15 เซนติเมตร เป็นส่วนของลำไส้ตรง และต่อจากลำไส้ตรงจะเป็นทวารหนัก ซึ่งเป็นส่วนท้ายสุดของทางเดินอาหาร เวลาที่อาหารเดินทางมาถึงลำไส้ใหญ่ ประมาณ 3-8 ชั่วโมง นับตั้งแต่รับประทานอาหารไป ซึ่งสารอาหารจะถูกลำไส้เล็กดูดซึมไปจนหมด ที่เหลือผ่านมาที่ลำไส้ใหญ่จะเป็นกากอาหารเหลว หน้าที่หลักของลำไส้ใหญ่ คือ ดูดกลับน้ำจากกากอาหารเหลวให้กลายเป็นกากอาหารที่แข็งขึ้น หรืออุจจาระนั่นเอง  โดยอุจจาระจะใช้เวลาในลำไส้ใหญ่ตั้งแต่ 10 ชั่วโมง จนถึง 2-3 วัน จากนั้นจะถูกขับออกทางทวารหนัก ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันแล้วว่าปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งของมะเร็งลำไส้ใหญ่คือ การที่อุจจาระใช้เวลานานในลำไส้ใหญ่ หรือท้องผูกนั่นเอง

       มะเร็งลำไส้ใหญ่ คือ เนื้องอกชนิดที่เป็นเนื้อร้ายเจริญขึ้นบริเวณผนังลำไส้ใหญ่ เป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับ 3  รองลงมาจากมะเร็งปอดและมะเร็งปากมดลูก ส่วนใหญ่ของเนื้อร้ายเจริญมาจากเนื้องอกที่เป็นติ่งยื่นออกมาจากผนังลำไส้ใหญ่ จากติ่งเนื้อจะโตมากขึ้นเรื่อยๆ  จนในที่สุดก็จะมีการเปลี่ยนแปลงจากเนื้องอกธรรมดากลายเป็นเนื้อร้าย หรือมะเร็งในที่สุด ซึ่งต้องใช้เวลาหลายปี ถ้าเรามีการตรวจสุขภาพก็จะสามารถตรวจพบเนื้องอกในระยะเริ่มต้นได้ ทำให้รักษาได้ทันท่วงที

สาเหตุของการเกิดมะเร็งลำไส้ 
  1. การรับประทานอาหารที่มีเส้นใยอาหารต่ำหรืออาหารที่มีปริมาณแคลเซียมน้อย  ทำให้เกิดอาการท้องผูก หรือท้องเสียบ่อย และเป็นเวลานาน

  2. เกิดก้อนเนื้องอกขึ้นในระบบทางเดินอาหารโดยเฉพาะที่บริเวณลำไส้ ซึ่งอาจเกิดจากปฏิกิริยาออกซิเดชั่นได้

  3. อาการที่สามารถถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม  ซึ่งผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้มาก่อนก็จะมีอัตราเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งชนิดนี้ได้สูงขึ้น

  4. รับประทานอาหารที่มีไขมันในปริมาณสูง

  5. มีการรับสารพิษเข้าสู่ร่างกายและไปตกค้างที่ลำไส้

  6. เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงบริเวณลำไส้เกิดการเสื่อมสภาพ สูญเสียความยืดหยุ่นไป  ทำให้เลือดไม่สามารถเข้าไปเลี้ยงที่บริเวณลำไส้ได้อย่างเพียงพอ

        แต่อย่างไรก็ตาม  สาเหตุที่แท้จริงยังไม่มีใครรู้แน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากการระคายเคืองหรือการถูกกระตุ้นอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน  หรือเกิดจากความผิดปกติของการแบ่งตัวของเนื้อเยื่อของลำไส้ หรือเกิดจากความผิดปกติของรหัสพันธุกรรม  ที่แน่ๆ พบว่าประชากรที่รับประทานผักผลไม้ยิ่งมากเท่าไร ยิ่งมีโอกาสเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่น้อยมากเท่านั้น  โดยไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ จึงคิดว่าการรับประทานผักผลไม้เป็นประจำ  จะช่วยในการป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้เป็นอย่างดี

        มีข้อมูลที่น่าสนใจจากการวิจัยคือ  คนที่มักรับประทานอาหารที่อุดมด้วยไขมันและเนื้อสัตว์สูงนั้น จะถ่ายอุจจาระประมาณวันละ  3-4 ออนซ์เท่านั้น  และใช้เวลาให้อาหารเดินทางนับจากใส่เข้าทางปากจนออกมาทางทวารนั้นนานถึง 2-3 วันทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรายผู้สูงอายุ ที่ระบบทางเดินอาหารและย่อยอาหารเริ่มทำงานด้อยประสิทธิภาพลง ก็อาจใช้เวลามากกว่า 1 อาทิตย์ ในขณะที่คนที่รับประทานผัก ผลไม้   หรืออาหารประเภทเส้นใยมากๆ ก็จะขับถ่ายอุจจาระวันละ 13-17 ออนซ์ โดยประมาณ  และใช้เวลาให้อาหารเดินทางออกมาเป็นเวลาประมาณ 20-30 ชั่วโมง แสดงว่าอาหารที่รับประทานเข้าไปทางปากทั้งหมดนั้นไม่ได้ถูกขับถ่ายออกมาทั้งหมด ต้องมีอาหารบางส่วนตกค้างบูดเน่าอยู่ในลำไส้ โดยจะพบอาการเกี่ยวกับการมีของบูดเน่าเป็นขยะอยู่ในร่างกายแสดงออกมาได้หลายอย่าง เช่น ท้องอืดแน่น เรอเหม็นเปรี้ยว  ลมในท้อง ท้องผูก ท้องเสีย หรืออาการถ่ายไม่ปกติ บางทีอาจปวดหัว หรือนอนไม่หลับ ตลอดจนอาจส่งผลให้มีผิวพรรณไม่ผุดผ่องหรือมีผื่นคันได้ แต่ที่สำคัญก็คือ ถ้ามีอาหารตกค้างบูดเน่าในลำไส้นานๆ และไม่ได้ขับถ่ายออกมา  ร่างกายเราก็ดูดซับเอาของเสียนี้กลับมาเลี้ยงร่างกายต่อไป จนเป็นบ่อเกิดของโรคภัยต่างๆ

        โดยปกติแล้วในลำไส้ของเราจะมีแบคทีเรียอยู่ 2 ชนิด คือ แบคทีเรียชนิดดี และแบคทีเรียชนิดไม่ดี ลำไส้ที่แข็งแรงมีประสิทธิภาพจะมีแบคทีเรียชนิดดีมาก  และจะมีชนิดไม่ดีน้อย  สำหรับการมีเศษอาหารตกค้างเน่าเสียภายในลำไส้นานๆ ก็กลายเป็นการเพิ่มการสะสมของแบคทีเรียชนิดไม่ดีไว้อย่างมากมาย โดยแบคทีเรียชนิดที่ไม่ดีนี้อาจเกิดจากการบูดเน่าสะสมของเศษอาหารในลำไส้ หรือเกิดจากการรับประทานอาหารที่ทำให้เกิดการบูดเน่า เช่น มีการวิจัยว่าการกินเนื้อสัตว์ ก่อให้เกิดการบูดเน่าในลำไส้ได้  ส่วนแบคทีเรียชนิดดีนั้นก็อาจมาจากการกินอาหารที่ดี การไม่สะสมของบูดเน่าไว้ในลำไส้

        ของหมักดองบางชนิดที่เกิดจากการหมักดองโดยวิธีธรรมชาติ จะทำให้เกิดแบคทีเรียชนิดดีได้ เช่น โยเกิร์ต หรือเต้าเจี้ยวที่เกิดจากการหมักแบบธรรมชาติ เป็นต้น และการรับประทานยาประเภทยาฆ่าเชื้อหรือยาปฏิชีวนะ (antibiotic) จะเป็นการทำลายแบคทีเรียชนิดดีให้ล้มตายลง  ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทานยาดังกล่าว

        แบคทีเรียชนิดที่ดี จะทำหน้าที่ควบคุมแบคทีเรียชนิดไม่ดีเอาไว้ ผลทำให้ควบคุมอาการท้องร่วง ท้องผูก รวมถึงการช่วยลดคอเรสเตอรอล และช่วยให้ร่างกายช่วยย่อยอาหารได้ดีขึ้นอีกด้วย

        ปัจจุบันคนไทยเริ่มมีพฤติกรรมการใช้ชีวิต และบริโภคอาหาร แบบชาวตะวันตก  ทำให้อัตราการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่จะเพิ่มขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆ โอกาสเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่จะเพิ่มขึ้นตามวัย คือ ปกติจะพบน้อยในคนอายุไม่ถึง 40 ปี แต่โอกาสเสี่ยงจะเพิ่มทันทีหลังอายุ  50 ปีแล้ว

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่
  1. เพศและเชื้อชาติ ในชาวอเมริกันนั้นผู้ชายจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่าผู้หญิง  คนผิวดำจะมีความเสี่ยงมากกว่าคนผิวขาว  แต่คนผิวดำในทวีปแอฟริกากลับมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ต่ำมาก  ดังนั้นความเสี่ยงเชิงเผ่าพันธุ์ อาจขึ้นกับว่าอยู่ในประเทศอุตสาหกรรมหรือไม่

  2. อายุ  โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่พบได้มากหลังอายุ 50 ปี แต่โอกาสเกิดโรคจะมีการเพิ่มสูงขึ้นเป็นลำดับ หลังอายุ  40 ปี เป็นต้นไป โดยยิ่งอายุมากขึ้นอุบัติการณ์ก็จะสูงขึ้นด้วย

  3. การบริโภคอาหารที่อุดมด้วยไขมัน และแคลอรีสูง แต่มีเส้นใยอาหารต่ำ

  4. เคยเป็นเนื้องอกชนิดโพลิป (polyp) ที่ลำไส้ใหญ่ ซึ่งเนื้องอกชนิดนี้ไม่ใช่เนื้องอกที่ร้ายแรง ส่วนใหญ่ไม่ก่อให้เกิดอาการหรืออันตรายใดๆ แต่ถ้าทิ้งไว้นานๆบางชนิดก็กลายเป็นเนื้อร้ายได้

  5. มีประวัติคนในครอบครัวที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ เช่น ถ้ามีน้องเป็นมะเร็งลำไส้ตรงคนหนึ่งแล้ว  คนที่เหลือก็จะมีโอกาสเป็นมะเร็งแบบเดียวกันได้ราว  10-15% มีกิจกรรมที่ใช้กำลังกายปานกลางจะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่น้อยลง

  6. การสูบบุหรี่  จากการศึกษาพบว่าการสูบบุหรี่เป็นปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่  และเป็นปัจจัยที่ทำให้อัตราการตายสูงขึ้นด้วย       

  7. การดื่มสุรา หรือเบียร์อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

  8. ผู้ที่มีประวัติของโรคลำไส้อักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ  เช่น IBD 

  9. มีญาติใกล้ชิดที่เป็นโรคเนื้องอกของลำไส้ใหญ่  ชนิดที่เรียกว่า Familial polyposis



อาการและอาการแสดงของโรค
       อาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่ในระยะเริ่มแรกไม่มีอาการอะไร  กินเวลานานหลายปีก่อนที่จะเริ่มมีอาการเบื่ออาหาร  น้ำหนักลด  เมื่อก้อนโตมากขึ้นกลายเป็นแผลจึงจะมีอาการเลือดออก ลำไส้อุดตัน หรือลำไส้ทะลุ ส่วนใหญ่พบว่าผู้ป่วยมักมีอาการเลือดออกบริเวณไส้ตรง (ริดสีดวงทวาร) มีเลือดปนออกมากับอุจจาระ  มีอาการปวดเวลาขับอุจจาระและมักมีอาการท้องเสีย/ท้องผูกเรื้อรังร่วมด้วยเสมอ โดยสามารถสรุปอาการต่างๆได้ดังนี้คือ
  • ถ่ายอุจจาระมีเลือดปน
  • อุปนิสัยการขับถ่ายเปลี่ยนไป  เช่น เคยถ่ายอุจจาระทุกวันก็เปลี่ยนไป มีอาการท้องผูก
  • อุจจาระมีขนาดเล็กลง 
  • ปวดมวนท้อง
  • ปวดถ่ายอุจจาระบ่อยๆ อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
  • โลหิตจางโดยไม่ทราบสาเหตุ

นอกจากนี้ยังพบว่า อาการของมะเร็งลำไส้ใหญ่ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่ก้อนมะเร็งตั้งอยู่ เช่น 
  1. ถ้าเป็นมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่ส่วนต้น ซึ่งอุจจาระยังเหลวมากอยู่นั้น  อาการจะปรากฏในรูปของเลือดออก โลหิตจาง  อ่อนเพลีย  ใจสั่น หายใจลำบาก

  2. ถ้าเป็นมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่ส่วนขวาง อาจปรากฏอาการปวดท้อง ท้องอืด เลือดออก

  3. ส่วนมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย และลำไส้ตรงอาจปรากฏอาการแสดงของอุจจาระที่มีก้อนเล็กลง  การขับถ่ายไม่สม่ำเสมอ ปวดท้องถ่าย

     มะเร็งของลำไส้ใหญ่ทุกส่วนมีโอกาสมีเลือดออกมาทั้งเลือดสดๆ หรือ เลือดเก่า ขอให้สังเกตดูหากมีลักษณะสีของอุจจาระเปลี่ยนไป ควรปรึกษาแพทย์ทันที

การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่
       เนื้องอก และมะเร็งลำไส้ใหญ่บางชนิดพบว่าเกิดภาวะเลือดออกเป็นพัก ๆ ได้  อาจไม่พบว่าถ่ายเป็นเลือดสด ๆ ออกมาให้เห็น แต่เกิดเพียงเล็กน้อย ดังนั้นหากเราตรวจเลือดอุจจาระก็จะพบเลือดได้ จึงเป็นที่มาของการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วยการตรวจหาเลือดในอุจจาระ ซึ่งจะพบได้ 24 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกาแนะนำให้ตรวจอุจจาระทุกปี ส่วนการส่องกล้องทางทวารหนักเพื่อตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่นั้น แนะนำให้ตรวจทุก 5 ปีในผู้ที่อายุเกินกว่า 50 ปี ซึ่งการตรวจคัดกรองทั้งสองวิธีเมื่อใช้ร่วมกันทำให้ตรวจพบมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้มากถึง 76 เปอร์เซ็นต์ 

        ประชากรกลุ่มเสี่ยงในโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ประชากรกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีสมาชิกในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ในช่วงอายุไม่มาก ผู้ป่วยลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Ulcerative colitis) นั้นควรจะพบแพทย์ เพื่อปรึกษาการตรวจคัดกรองว่าจะใช้วิธีใด และความถี่มากน้อยเพียงใด

ระยะของการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
         เมื่อมีการพบก้อนมะเร็ง การวินิจฉัยนั้นต้องอาศัยผลชิ้นเนื้อไปตรวจทางห้องปฏิบัติการ ส่วนการแบ่งระยะความรุนแรงของโรคนั้นมีความจำเป็นเพราะจะเป็นการตัดสินวิธีการรักษา การแบ่งระยะความรุนแรงของโรคนั้นดูจากเนื้องอกนั้นรุกลามเข้าไปในผนังของลำไส้ใหญ่มากน้อยเพียงใด และกระจายออกไปยังอวัยวะอื่น ๆ หรือไม่ โดยการตัดชิ้นเนื้อมาตรวจโดยศัลยแพทย์ โดยสามารถแบ่งระยะของการเป็นมะเร็ง ออกเป็น 5 ระยะคือ
   ระยะ 0  เซลล์มะเร็งยังเติบโตอยู่ในขั้นเยื่อบุลำไส้ใหญ่
   ระยะ 1  เซลล์มะเร็งลุกลาม ผ่านทะลุชั้นเยื่อบุ แต่ยังไม่ทะลุผ่านเข้าไปในผนังของลำไส้ใหญ่
   ระยะ 2  มะเร็งลุกลามผ่านทุกชั้นของผนังลำไส้ใหญ่แล้ว แต่ยังไม่ลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง
   ระยะ 3  มะเร็งลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงแล้ว แต่ยังไม่ลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆของร่างกาย
   ระยะ 4 มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะต่างๆ เช่น ตับ ปอด เยื่อบุช่องท้อง และรังไข่
 
การตรวจวินิจฉัย
       จากการซักประวัติ และตรวจร่างกาย รวมถึงการตรวจโดยใช้นิ้วตรวจทางทวารหนักร่วมกับการส่องกล้องภายในลำไส้  โดยเริ่มจากการใช้กล้อง แบบสั้นก่อน  (Proctoscope) เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องใช้กล้องที่ยาวขึ้น (Colonoscope) แพทย์อาจใช้การ x-ray โดยการใส่สารทึบรังสีเข้าไปในลำไส้ (Barium enema) เมื่อพบก้อน แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อบางส่วน หรือทั้งหมดเพื่อส่งตรวจโดยใช้กล้องจุลทรรศน์เพื่อดูว่าเป็นก้อนชนิดใด เพื่อให้วิธีการรักษาที่ถูกต้อง เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งจำเป็นต้องตรวจว่ามีการ กระจายไปยังที่อื่นหรือไม่ โดยการ x-ray ปอด การทำ ultrasound ตับ หรือ x-ray computer นอกจากนี้ถ้ามีอาการเบื่ออาหาร และน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือด ก็ควรมีการตรวจ  แต่การตรวจหามะเร็งก่อนที่จะมีอาการจะได้ผลดีที่สุดได้แก่ ผู้ที่อายุมากกว่า 40 ปี หรือผู้ที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นมะเร็ง โดยทำการตรวจหาเลือดในอุจจาระทุกปี  การเจาะเลือดเพื่อตรวจหาสารมะเร็ง (CEA) หรือการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ชนิดยาว ( Colonocope) 

       การตรวจหาเลือดในอุจจาระที่ได้ผลดี  ต้องงดการรับประทานอาหารหรือยาที่มีสารเหล็กเป็นส่วนประกอบอยู่อย่างน้อย 3 วัน ได้แก่ เลือด ตับ อวัยวะภายในของสัตว์ ยาที่มีธาตุเหล็ก เช่น ยาเพิ่มเลือด
 
การรักษา
       การรักษามีหลายวิธี ขึ้นกับตำแหน่งของก้อน และอาการที่เป็นอยู่  บางตำแหน่งจะรักษาโดยการผ่าตัดเลย  แต่บางตำแหน่งโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบริเวณอุ้งเชิงกราน อาจจำเป็นต้องฉายรังสีก่อนที่จะได้รับการผ่าตัด เพื่อลดอัตราการแพร่กระจายออกไป และการกลับเป็นใหม่ หลังจากได้รับการผ่าตัดแล้วแพทย์จะเอาก้อนมะเร็งทั้งก้อน รวมทั้งลำไส้ที่ตัดเพื่อตรวจหาระยะของโรค ซึ่งบางระยะอาจจำเป็นต้องได้รับการฉายแสงหรือได้รับยาเคมีบำบัดเพิ่มเติม

       ในปัจจุบันหลังจากมีการศึกษาค้นพบหน่วยพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งลำไส้ใหญ่ จึงได้มีการพัฒนาวิธีการตรวจเพื่อจะบอกว่าผู้ใดมีความเสี่ยงทางพันธุกรรมสูงต่อการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่  การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่มีวิธีหลักอยู่ 3 วิธี
ได้แก่ การผ่าตัดเอาเนื้อร้ายออก การใช้ยาไปทำลายเซลล์มะเร็ง และการทำลายเซลล์มะเร็งในตำแหน่งต่างๆด้วยการฉายรังสี การเลือกวิธีในการรักษานั้นขึ้นอยู่กับว่าเป็นมะเร็งมากน้อย เพียงใด  มีการลุกลาม หรือแพร่กระจายหรือไม่ และสภาพร่างกายของผู้ป่วยขณะนั้นเหมาะสมกับวิธีใดมากที่สุด

มะเร็งลำไส้ใหญ่ สามารถแบ่งวิธีการรักษาได้ตามความเหมาะสม ดังนี้
• การรักษาโดยการผ่าตัด  
      การผ่าตัดเป็นวิธีที่ใช้บ่อยที่สุดในการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยอาจจะทำเพียงการตัดก้อนชิ้นเนื้อ หรือ การตัดเฉพาะที่ในกลุ่มที่เป็นในระยะแรก ๆ แต่ในระยะหลัง ๆ ที่ก้อนเนื้องอกลุกลามไปนอกลำไส้ใหญ่ หรือเข้าไปยังต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการตัดเนื้องอกร่วมกับส่วนหนึ่งของลำไส้ไปด้วย ร่วมกับการเลาะชิ้นเนื้อต่อมน้ำเหลืองที่คาดว่าอาจมีการกระจายเนื้องอกเข้าไปร่วมด้วย ในบางกรณีสามารถต่อลำไส้เข้ามาด้วยกันได้เลย แต่บางคนไม่สามารถต่อเข้าด้วยกันได้ อาจต้องมีการเปิดหน้าท้องเป็นทางออกของอุจจาระแทน

      ข้อดีเกี่ยวกับมะเร็งลำไส้ใหญ่คือ  ส่วนใหญ่จะเจริญเติบโตอย่างช้าๆ บางรายอาจแฝง อยู่ในร่างกายเกือบ 10 ปี แล้วยังอยู่ในสภาพที่ผ่าตัดรักษาให้หายขาดได้ เพราะมันยังไม่ลุกลามจนเกินขีดความสามารถในการรักษา
 การผ่าตัดเอาลำไส้ส่วนที่มีมะเร็งออกยังเป็นวิธีที่ดีที่สุด และมีโอกาสหายขาดได้มากที่สุด แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นในกรณีที่มะเร็งอยู่ใกล้ทวารหนักมาก ทำให้ศัลยแพทย์ไม่อาจเย็บลำไส้ต่อกลับให้เหมือนเดิมได้ กรณีเช่นนี้อาจต้องมีการย้ายทวารหนักไปไว้ที่ท้องน้อย แล้วใส่ถุงคาดเอวไว้รองรับ เรียกว่า โคลอสโตมี่ (colostomy)

       ส่วนของลำไส้ที่นำมาเปิดที่ผนังหน้าท้อง เรียกว่า สโตม่า (stoma) ซึ่งจะมีการใช้อุปกรณ์เพื่อช่วยรองรับอุจจาระที่ร่างกายขับถ่ายออกมา อุปกรณ์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นถุง เรียกว่าโคลอสโตมี แบค (colostomy bag) ถุงดังกล่าวเป็นระบบปิด ป้องกันการไหลซึมของอากาศ ของเหลวต่างๆ และป้องกันกลิ่น อันไม่พึงประสงค์ของอุจจาระ

        การใช้ colostomy bag ต้องทำความสะอาดผิวหนังโดยรอบและเปลี่ยนถุงอย่างสม่ำเสมอ บางครั้งอาจเห็นเลือดซึมออกมา  จากบริเวณ stoma ได้บ้างเล็กน้อย โดยเฉพาะในช่วงแรกหลังผ่าตัด ขนาดของ stoma แตกต่างกันได้ และอาจมีสีที่แตกต่างกันได้เช่นกัน โดยทั่วไปมักจะเห็นเป็นสีแดงออกส้ม นอกจากนี้ ลักษณะของ stoma ที่เห็นจากภายนอกยังแตกต่างกัน ในช่วงเวลา ต่างๆของวัน ขึ้นกับการบีบตัวของลำไส้ในขณะนั้น

        การเปลี่ยน colostomy bag ทำได้ไม่ยาก หลังจากผ่าตัดเสร็จเรียบร้อยประมาณ 7-10 วัน แผลที่บริเวณ stoma ก็จะแห้งสนิท และระบบขับถ่ายอุจจาระก็จะเข้าสู่ภาวะปกติเช่นกัน ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด colostomy เมื่อสวมเสื้อผ้าปิดคลุม colostomy bag ไว้ก็สามารถเดินทางไปไหนมาไหน ได้ตามปกติ โดยไม่เป็นที่น่ารังเกียจแต่อย่างใด
 ด้วยเหตุนี้การตรวจคัดลำไส้ใหญ่เพื่อหาเนื้องอกชนิดธรรมดา ที่เรียกว่า “โพลิบ”จึงช่วยให้แพทย์ตัดออกแต่เนิ่นๆก่อนเนื้องอกกลายเป็นมะเร็ง 

• การรักษาโดยการให้เคมีบำบัด
       ใช้ประกอบกับการผ่าตัด เพื่อลดโอกาสกำเริบของมะเร็งและโอกาสรอดชีวิตยืนยาวขึ้น หลังการผ่าตัดแล้ว จะต้องพบแพทย์เป็นระยะๆเพื่อติดตามดูว่าไม่มีเนื้องอกกำเริบหรือกลับเป็นใหม่ถึงแม้ว่าส่วนใหญ่ของการรักษาจะเป็นการผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกออกไปแล้ว  แต่พบว่าเกิดการกลับมาใหม่ได้มาก ประมาณ 50-60% การรักษาด้วยเคมีบำบัดเป็นการรักษาเพื่อลดการกลับมาใหม่หลังจากการผ่าตัด โยเฉพาะในผู้ป่วยตั้งแต่ระยะที่ 2 เป็นต้นไป ที่มีลำไส้ใหญ่ทะลุหรืออุดตัน เป็นผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงมาก ต่อการกลับมาใหม่ของมะเร็ง โดยทั่วไปมักจะให้เคมีบำบัดประมาณ 6 ครั้ง (ขึ้นอยู่กับชนิดของยาเคมีบำบัด) จากรายงานการศึกษาพบว่า อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัดร่วมกับการรักษาด้วยการผ่าตัดนั้น ดีกว่าการรักษาด้วยการผ่าตัดเพียงอย่างเดียว

        ในกลุ่มผู้ป่วยระยะที่ 4  และกลุ่มที่เป็นการกลับมาใหม่นั้นพบว่า การพยากรณ์โรคไม่ดี  การรักษาที่เป็นมาตรฐานในกลุ่มนี้คือการรักษาด้วยเคมีบำบัด ซึ่งมีหลายสูตร ขึ้นกับชนิด และระยะของเนื้องอก  ในปัจจุบันมียาเคมีบำบัดใหม่ๆออกมาใช้ในการรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ เช่น Capecitabine (Xeloda) เป็นยาเคมีบำบัดชนิดรับประทาน ซึ่งใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่สามารถทนต่อการรักษาเคมีบำบัดชนิดฉีดได้ ในการรักษานั้น แพทย์และผู้ป่วยต้องมาปรึกษากันในด้านของประโยชน์ และผลข้างเคียงจากการรักษา
 ปัญหาก่อนหน้านี้คือ แพทย์ไม่สามารถทราบล่วงหน้าว่าผู้ป่วยรายใดอยู่ในกลุ่มที่จะได้ผลตอบสนองต่อเคมีบำบัดหลังผ่าตัด  รายใดอยู่ในกลุ่มที่ไม่ได้ผล  จึงทำให้เกิดเป็นความยากลำบากในการตัดสินใจการวางแผนการรักษาผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่โรคลุกลาม  ปัจจุบันเกิดความรู้ใหม่พบว่าสิ่งที่ช่วยทำนายผลการรักษาในกรณีดังกล่าวได้คือปริมาณดีเอ็นเอในเซลล์มะเร็ง

        ปริมาณดีเอ็นเอในเซลล์มะเร็ง เรียกว่า DNA content พบว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะลุกลามที่มี ดีเอนเอเป็นชนิด  tetraploid , peritetrapliod และ multiploid  tumours จะตอบสนองดีมากต่อยาเคมีบำบัดสูตร irinotecan + 5-FU  ซึ่งให้ยาหลังผ่าตัด  ผลการศึกษาวิจัยครั้งนี้จะเกิดผลอย่างใหญ่หลวงต่อการเลือกผู้ป่วยที่แพทย์วางแผนล่วงหน้าได้ว่า  จะเป็นกลุ่มที่ตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดหลังผ่าตัด  ในทางกลับกัน ด้วยแนวคิดและเทคนิคการตรวจ  DNA content ของเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ ก็จะช่วยให้แพทย์ทราบว่าผู้ป่วยรายใด จะไม่ตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดหลังผ่าตัด และเลือกการรักษาวิธีอื่นแทน ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อความสำเร็จในการรักษาโรคดังกล่าว เช่นเลือกวิธีฉายแสง เป็นต้น  ผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดสูตร irinotecan + 5-FU  ได้แก่ผู้ที่มี ดีเอนเอ เป็นชนิด diploid, peri-diploid และ aneuploid  tumours

• รังสีรักษา
       การรักษาด้วยการฉายรังสีในมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้นเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษา  โดยเฉพาะเมื่อก้อนเนื้อนั้นลุกลามออกไปยังอวัยวะอื่นๆ หรือออกมาเกาะยังผนังหน้าท้อง ซึ่งการฉายรังสีนั้น ไม่เป็นการรักษาวิธีหลักในการรักษามะเร็งลำไส้
 
การติดตามการรักษา
        หลังได้รับการรักษาแล้ว ผู้ป่วยยังต้องมารับการตรวจอย่างต่อเนื่องเพื่อตรวจหาการกลับเป็นใหม่ หรือการกระจายไปยังอวัยวะอื่น ใน 3 ปีแรกต้องได้รับการตรวจทุก 3 เดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจเลือดหาสารซีอีเอ (CEA) นอกจากนี้ยังมีการตรวจพิเศษอื่นๆ อีกทุก 6-12 เดือน เช่น การเอ๊กซเรย์ปอด อัลตราซาวน์ตับ หรือซีทีสแกน การส่องกล้องชนิดยาวเพื่อดูลำไส้ใหญ่ส่วนที่เหลือ (Colonoscopy) หรือสวนแป้ง (Barium enema) ทั้งนี้เพื่อตรวจการแพร่กระจายหรือการกลับเป็นใหม่เพื่อให้การรักษาโดยเร็วที่สุด หลังจาก 3 ปีแล้ว ความถี่ในการตรวจจะลดลง เช่น ทุก 6-12 เดือน

        นอกจากหลังการรักษาแล้ว ที่ผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์เป็นระยะๆ เพื่อติดตามดูว่ามีเนื้องอกกำเริบหรือไม่ ตัวผู้ป่วยเองก็ต้องหมั่นสังเกตอาการผิดปกติด้วยตัวเอง  ที่สำคัญก็คือ สังเกตดูลักษณะการถ่ายอุจจาระว่า มีอาการท้องร่วงเรื้อรัง หรือท้องผูกผิดปกติหรือไม่  ปวดถ่ายแต่ถ่ายไม่ออก หรือถ่ายอุจจาระแล้วยังรู้สึกว่ายังไม่สุด  และที่สำคัญให้สังเกตว่ามีเลือดออกปนมากับอุจจาระหรือไม่  โดยลักษณะเลือดที่ออกมาเป็นมูกเลือด  หรือบางคนถ้ามีเนื้อร้ายบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนต้น  เลือดจะปนอุจจาระออกมาทำให้อุจจาระกลายเป็นสีดำเลย  ถ้าพบลักษณะสีอุจจาระเปลี่ยนไป ต้องปรึกษาแพทย์ทันที 


การป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่
        การป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่การรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ อุดมไปด้วยเส้นใยอาหารจากผักและผลไม้ ลดการรับประทานเนื้อแดง ร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการควบคุมน้ำหนักการใช้สารเคมี หรือยาเพื่อการป้องกันการเกิดมะเร็งนั้น มีรายงานการศึกษาสารเคมี หรือยา หลายชนิด เช่น วิตามินเอ, วิตามินอี, วิตามินดี, วิตามินซี, กรดโฟลิก, แคลเซียม, ซีลีเนียม, ยาแอสไพริน, ยาแก้ปวดกลุ่มค็อกทู (cox-2 inhibitor), ยาลดไขมันกลุ่มสแตติน (Statin), และฮอร์โมนบางชนิด พบว่าอาจมีผลในการป้องกันการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน จึงยังไม่เป็นข้อแนะนำให้ใช้สารดังกล่าวเพื่อการป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ในประชากรทั่ว ๆ ไป
ขอบคุณบทความจาก siamca.com

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้