17212 จำนวนผู้เข้าชม |
ปอดเป็นอวัยวะที่ใช้ในการหายใจและแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนเพื่อช่วยในการทำงานของร่างกายเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญมาก มะเร็งปอดเกิดจากการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติและไม่สามารถควบคุมได้ของเซลล์เนื้อเยื่อปอด ทำให้เกิดเป็นกลุ่มก้อนของเซลล์ที่ผิดปกติซึ่งจะตรวจพบได้เมื่อมีจำนวนเซลล์มากและมีขนาดใหญ่ซึ่งอาจมีการแพร่ไปตามบริเวณต่างๆ ของร่างกาย มะเร็งปอดแบ่งออกเป็น 2 ชนิดตามชนิดของเซลล์ ซึ่งความแตกต่างนี้มีความสำคัญ เนื่องจากวิธีการรักษาจะแตกต่างกัน
- มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (small cell lung cancer) พบได้ประมาณ 10-15 เปอร์เซ็นของผู้ป่วยมะเร็งปอด เซลล์จะเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่ามะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว
- มะเร็งปอดชนิดไม่ใช่เซลล์เล็ก (non-small cell lung cancer) พบได้บ่อยกว่ามะเร็งปอดชนิดเล็ก (พบได้ประมาณ 85-90 เปอร์เซ็นต์) แต่จะแพร่กระจายได้ช้ากว่า และสามารถรักษาให้หายได้หากพบตั้งแต่เนิ่นๆ
ปัจจัยเสี่ยง
1. การสูบบุหรี่ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการเกิดมะเร็งปอดทั้งนี้รวมถึงการอยู่ร่วมกับผู้ที่สูบบุหรี่ด้วย (second hand smoker)
2. การได้รับสารพิษและมลภาวะในสิ่งแวดล้อม เช่น การได้รับก๊าซเรดอน (Radon) จากการทำงานในเหมืองแร่ถ่านหิน ทั้งนี้รวมถึงสารเคมีอื่นๆ เช่น แอสเบสตอส (Asbestos), อาร์เซนิก, โครเมียม, นิกเกิล
3. เคยฉายรังสีบริเวณหน้าอกหรือเต้านม
4. อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีมลภาวะทางอากาศ
อาการ
ไอเรื้อรัง, ไอมีเลือดปนในเสมหะ, เจ็บหน้าอก, เสียงแหบ, หายใจลำบากมีเสียงดัง (Wheezing), เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อ่อนเพลีย
การตรวจคัดกรอง
ช่วยให้แพทย์สามารถตรวจพบและรักษามะเร็งได้ตั้งแต่เนิ่นๆ แต่ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการคัดกรองมะเร็งปอดแบบง่ายหรือด้วยตนเองดังเช่นมะเร็งเต้านม อาจใช้การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบใช้ปริมาณรังสีต่ำในคนที่มีความเสี่ยงสูง การตรวจคัดกรองจะช่วยให้สามารถพบโรคในระยะเริ่มต้นได้
การตรวจวินิจฉัย
1. ประวัติและการตรวจร่างกาย
2. เอกซเรย์ปอด (Chest film)
3. เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan)
4. การตรวจด้วยการเภสัชรังสี (PET scan)
5. การส่องกล้องผ่านทางหลอดลม (Bronchoscope)
6. การเจาะชิ้นเนื้อเพื่อการวินิจฉัย (Fine needle biopsy)
ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการพยากรณ์โรคและทางเลือกในการรักษา
ขึ้นอยู่กับ
1. ระยะของโรค (ขนาดของมะเร็งการแพร่กระจายไปสู่บริเวณอื่น)
2. ชนิดของมะเร็งปอด
3. อาการไอ หายใจไม่สะดวก
4. สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย